วัคซีนโควิด-19
0 0
Read Time:12 Minute, 48 Second

วัคซีนโควิด-19 ได้รับอนุมัติเป็นการเร่งด่วนให้ฉีดกับประชากรในหลายประเทศแล้ว ถึงแม้จะยังไม่ถึงคิวของประเทศเรา ก็ควรมาทำความรู้จักกับวัคซีนนี้ให้ดีกันก่อน

ในสถานการณ์ของโรคระบาดใหญ่อย่างเช่นโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 1.8 ล้านคนเช่นนี้ วัคซีน..ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ทุกคนกำลังมุ่งไปหา และนักวิจัยทั่วโลกก็ทำงานกันแบบติดสปีด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 

และในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีของการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ เป้าหมายนี้ก็ได้เป็นจริงแล้ว มีหลายประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรของตนเองแล้ว อย่างเช่นสหรัฐฯ ที่อนุมัติวัคซีน Pfizer-BioNTech (ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเท็ค) และ Moderna (โมเดอร์น่า) ได้ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มที่ทำงานด้านดูแลสุขภาพ ตามมาด้วยประชากรที่อายุ 75 ปีขึ้นไปซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง

ถึงแม้จะเริ่มมีวัคซีนที่เป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายนี้ แต่จากการที่วัคซีนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังมีคำถามมากมายที่หลายคนอาจสงสัย ถึงแม้หลายคำถามจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่เราก็ได้รวบรวมคำถามที่หลายคนอาจอยากรู้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้ให้ในที่นี้แล้ว

ในขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 อะไรบ้างที่มีการใช้งานแล้ว

วัคซีนโควิด-19

มีการพัฒนาวัคซีนในหลายประเทศ จากการติดตามของ Milken Institute พบว่ามีอยู่ถึง 236 ราย และรายงานของ The Regulatory Affairs Professionals Society (RAPS) ระบุว่ามีวัคซีนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเฟสที่ 2 และ 3 ถึง 55 รายในหลายประเทศทั่วโลก

โดยจากรายงานของ New York Times ระบุว่า มีวัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งานอย่างเต็มรูปแบบอยู่ 3 ชนิด นั่นก็คือ Pfizer-BioNTech (ไฟเซอร์/ ไบโอเอ็นเทค) Moderna (โมเดอร์น่า) และ AstraZeneca/ Oxford (แอสทราซีเนกา/ อ็อกฟอร์ด) โดยวัคซีนทั้งสามชนิดนี้ ได้เริ่มมีการฉีดให้กับประชากรในปลายประเทศในยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยเริ่มฉีดในกลุ่มที่ทำงานทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข และกลุ่มเสี่ยงอย่างเช่นผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีก 7 ชนิด ที่ได้รับอนุมัติและเริ่มการใช้งานแบบจำกัด หรือในกรณีฉุกเฉินในบางประเทศ ได้แก่

  • Convidecia (หรือ Ad5-nCoV) ในประเทศจีน
  • EpiVacCorona ในประเทศรัสเซีย
  • BBIBP-CorV ในประเทศจีน
  • CoronaVac (formerly PiCoVacc) ในประเทศจีน
  • Sputnik V (หรือ Gam-Covid-Vac) ที่พัฒนาโดยรัสเซีย และนอกจากการใช้งานแบบจำกัดในรัสเซียแล้ว ยังมีการอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินในเบลารุสและอาร์เจนติน่าอีกด้วย
  • Sinopharm-Wuhan ในจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
  • Covaxin (also known as BBV152 A, B, C) ในประเทศอินเดีย

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนที่ได้รับอนุมัติและมีการใช้งานอย่างจำกัดเหล่านี้ได้ ที่นี่

วัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna เป็นอย่างไร

วัคซีนโควิด-19

ผลจากการทดลองวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร New England Journal of Medicine (NEJM) แสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถลดความเสี่ยงของโควิด-19 ลงได้ 95% การทดลองทำในกลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่เกือบ 44,000 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนจริง ส่วนอีกครึ่งได้รับยาหลอกที่เป็นน้ำเกลือ ในจำนวน 170 เคสของการเกิดโควิด-19 ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษา 162 คนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ 8 คนจากกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง โดย 9 ใน 10 ของเคสที่เป็นโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง เกิดขึ้นในกลุ่มที่ได้ยาหลอก ชี้ให้เห็นว่าวัคซีนลดความเสี่ยงในการเป็นโรคโควิด-19ได้ทั้งแบบรุนแรงและแบบเล็กน้อย

บทความใน NEJM รายงานว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพแบบเดียวกันในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ต่างเชื้อชาติและชาติพันธ์ุ น้ำหนักตัว การมีภาวะทางการแพทย์อื่นร่วมด้วยหรือไม่มี รวมถึงวัย (อายุน้อยและอายุมากกว่า 65 ปี) องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ อนุมัติการใช้งานให้แก่เด็กอายุ 16-17 ปี ด้วย ถึงแม้จำนวนของผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นวัยรุ่นจะมีจำนวนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

ไม่มีผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยที่พบกับผลข้างเคียงที่รุนแรง ส่วนใหญ่เกิดอาการปวดในบริเวณที่ฉีดวัคซีน และราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับวัคซีน รายงานว่ามีอาการอ่อนเพลียหรือปวดศีรษะเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือมีทั้งสองอย่าง อาการไข้และหนาวสั่นก็พบได้เป็นปกติเช่นกัน แต่อาการจะหายไปเกือบทั้งหมดภายใน 24-48 ชั่วโมง

วัคซีนต้องฉีด 2 ครั้งด้วยกัน เว้นระยะห่างกัน 3 สัปดาห์ ถึงแม้วัคซีนจะให้การปกป้องที่น่าพอใจตั้งแต่เข็มแรก แต่ก็จะให้การปกป้องที่ดียิ่งขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 แต่ยังไม่รู้ว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนี้จะอยู่นานแค่ไหน

วัคซีนของ Pfizer-BioNTech เป็นวัคซีน mRNA (วัคซีนตัดต่อพันธุกรรม) นั่นก็คือวัคซีนจะมีเมสเซนเจอร์ RNA สังเคราะห์ เป็นโมเลกุลสารพันธุกรรมที่บรรจุพิมพ์เขียวในการสร้างโปรตีน ภายในร่างกายของเรา mRNA จะเข้าไปในเซลล์และสั่งให้เซลล์สร้างองค์ประกอบของไวรัส SARS-CoV-2 ส่วนที่เป็นเปลือกโปรตีน (spike protein) รอบนอก เมื่อร่างกายรับรู้ว่าเปลือกโปรตีนนี้เป็นผู้รุกราน ก็จะสร้างแอนตี้บอดี้ขึ้นมาเพื่อจัดการกับมัน และในภายหลังเมื่อแอนตี้บอดี้พบกับไวัสจริงๆ มันก็พร้อมที่จะจดจำและทำลายก่อนที่จะไวรัสจะทำให้เกิดอาการป่วย 

วัคซีน mRNA ต้องเก็บไว้ในที่เย็นจัดเท่านั้น การเก็บรักษาวัคซีนที่ไม่เหมาะสม จะทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพได้

วัคซีน mRNA สามารถเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของเราได้หรือเปล่า

วัคซีนโควิด-19

เนื่องจากเป็นวัคซีนแบบตัดต่อพันธุกรรม นี่จึงเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่คนเป็นกังวล แต่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า

mRNA เป็นโมเลกุลพันธุกรรมที่บรรจุพิมพ์เขียวในการสร้างโปรตีน โดย mRNA ในวัคซีนโควิดนี้เป็นชนิดที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อเข้าไปภายในร่างกายของคนเรา mRNA จะเข้าไปในเซลล์และสั่งให้สร้างเปลือกโปรตีน (spike protein) บนพื้นผิวของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่เซลล์สร้างเปลือกโปรตีนนี้ขึ้นมาแล้ว เซลล์จะย่อยสลาย mRNA ให้กลายเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่ไม่เป็นอันตราย mRNA จะไม่เข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของเรา วัคซีน mRNA จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของคนเราได้

ระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำเปลือกโปรตีนนี้ในฐานะผู้รุกราน และสร้างแอนตี้บอดี้ขึ้นมาเพื่อต่อสู้ เมื่อแอนตี้บอกดี้เจอกับไวรัสจริงๆ ในภายหลัง มันก็พร้อมที่จะจดจำและทำลายก่อนที่มันจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย

วัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna ปลอดภัยแค่ไหน

วัคซีนโควิด-19

ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเท็ค และโมเดอร์น่า พบกับผลข้างเคียงหลังการฉีดยา ทั้งอาการปวดในบริเวณที่ฉีด มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ แต่อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโรคงูสวัด

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือ CDC ได้ระบุว่า มีการเกิดอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) หลายเคสในผู้รับวัคซีนในสหรัฐฯ แต่ถึงแม้อาการแพ้อย่างรุนแรงนี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หากก็สามารถหยุดยั้งได้อย่างรวดเร็วด้วยยาอย่างเช่นเอพิเนฟรีน (epinephrine) ด้วยเหตุนี้ CDC จึงแนะนำว่า ใครก็ตามที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงกับส่วนประกอบใดในวัคซีนโควิด-19 ให้ระงับการฉีดวัคซีนไว้ก่อน หรือหากคุณมีประวัติอาการแพ้อย่างรุนแรงกับวัคซีนชนิดใดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ว่าคุณควรฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่

ในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ในการทดลอง 4 ราย และ 3 รายในการทดลองของโมเดอร์น่า เกิดอาการ Bell’s palsy (โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก) หรืออาการอ่อนแรงหรือชาชั่วคราวบนใบหน้า โดยนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ บอกว่า กรณีของโรค Bell’s palsy นั้นตรงตามอัตราที่คาดเอาไว้ หากข้อมูลที่มีในปัจจุบันนี้ยังไม่เพียงพอที่จะชี้ถึงสาเหตุที่เชื่อมโยงระหว่างโรคนี้กับวัคซีนได้ แต่สถานการณ์นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรต้องจับตาดู

วัคซีน AstraZeneca/Oxford แตกต่างจากวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์น่าอย่างไร

วัคซีนโควิด-19

วัคซีนแต่ละชนิดใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาแตกต่างกันไป ขณะที่วัคซีนจากโมเดอร์น่าและไฟเซอร์ ใช้เทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า mRNA วัคซีนของแอสทราเซเนกาใช้ไวรัสอะดิโนจากชิมแปนซี เพื่อนำเอาเปลือกโปรตีน SARS-CoV-2 เข้าไปกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และ Johnson & Johnson ก็ใช้ไวรัสอะดิโนที่มีการปรับแต่งพันธุกรรม ขณะที่โนวาแว็กซ์ใช้เปลือกโปรตีน SARS-CoV-2 ที่สร้างขึ้นในห้องแล็บ และส่วนผสมที่ไปกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันให้ตอบสนอง

วัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสอะดิโนเป็นอย่างไร

วัคซีนโควิด-19

ไวรัสอะดิโน (adenovirus) สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้หลายอย่าง รวมถึงหวัดแบบธรรมดาด้วย ได้มีการนำเอาไวรัสชนิดนี้มาใช้ในการพัฒนาวัคซีน โดยใช้เป็นแคปซูลที่นำเอาผิวโปรตีนเข้าสู่ร่างกาย ผิวโปรตีนจะชักนำให้ระบบภูมิคุ้มกันผลิตแอนตี้บอดี้เพื่อต่อสู้กับมัน เตรียมพร้อมร่างกายในการรับมือในกรณีที่ไวรัส SARS-CoV-2 เข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

เมื่อเดือนธันวาคม 2020 AstraZeneca (แอสทราเซเนกา) ได้เผยแพร่ผลการทดลอง ที่น่าพึงพอใจของวัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัส ซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร การศึกษาซึ่งเผยแพร่ในวารสาร The Lancet มีกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยเป็นผู้ใหญ่จำนวน 11,636 คน ในจำนวนนี้ ผู้เข้าร่วม 4,400 คนได้รับวัคซีนไวรัสโคโรน่าเต็มโดส แล้วตามด้วยอีกหนึ่งโดสในสี่สัปดาห์ถัดมา ส่วนอีกเกือบ 1,400 คน ได้รับวัคซีนครึ่งโดส แล้วตามด้วยอีกเต็มโดสในสี่สัปดาห์ถัดมา กลุ่มควบคุมได้รับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (meningitis vaccine) ตามด้วยวัคซีนไข้กาฬาหลังแอ่นเข็มที่สอง หรือยาหลอก (น้ำเกลือ) มีบันทึกถึงเคสโควด-19 จำนวน 131 เคส ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างน้อยสองสัปดาห์หลังการฉีดครั้งที่สอง

วัคซีนไวรัสโคโรน่าช่วยลดความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ลงได้โดยเฉลี่ย 70.4% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ที่น่าประหลาดใจก็คือ กลุ่มที่ฉีดวัคซีนครึ่งโดสและเต็มโดสกลับมีประสิทธิภาพมากกว่า ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคโควิค-19 ลงได้ราว 90% กลุ่มที่ได้รับแบบเต็มโดสทั้งสองครั้งลดความเสี่ยงลงได้ 62% ไม่มีคนใดในกลุ่มผู้เข้าร่วมที่เป็นโรคโควิด-19 แบบร้ายแรงหรือต้องเข้าโรงพยาบาล กลุ่มที่เป็นแบบไม่มีอาการก็ลดลงด้วย

ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่อายุระหว่าง 18 และ 55 และเป็นคนผิวขาว นอกจากนี้กลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษายังมีสุขภาพแข็งแรง หรือมีอาการทางการแพทย์บางอย่างที่ควบคุมได้ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อดูว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพแค่ไหนในกลุ่มผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี คนผิวสี หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ

ไวรัสอะดิโนที่ใช้ในวัคซีนของแอทราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็นไวรัสอะดิโนในรูปแบบที่ไม่มีอันตรายจากหวัดที่พบในชิมแปนซี เป็นวัคซีนที่สามารถแช่เย็นเอาไว้ได้อย่างปลอดภัยเป็นเวลาหลายเดือน

เรายังสามารถติดโรคโควิด-19 ได้หรือไม่หลังจากฉีดวัคซีน

วัคซีนโควิด-19

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะยังป่วยจากโรคนี้หรือไม่ และภูมิคุ้มกันจะคงอยู่นานแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนควรจะต้องเข้าใจว่า วัคซีนอาจให้การป้องกัน แต่ก็ไม่ใช่เกราะเหล็กที่จะป้องกันได้อย่างเด็ดขาด หลักๆ ก็คือ เพียงเพราะคุณได้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถโยนหน้ากากทิ้งไป และเลิกใช้มาตรการป้องกันตัวเองอื่นๆ อย่างเช่นการเว้นระยะห่างจากผู้อื่นและการล้างมือ ซึ่งจะยังคงเป็นสิ่งำสคัญไปอีกะยะหนึ่งเลยทีเดียว เพื่อที่จะควบคุมไวรัสนี้ให้ได้

เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว เราสามารถหยุดการป้องกันตัวเองได้หรือไม่

วัคซีนโควิด-19

วัคซีนจะป้องกันคุณจากการเจ็บป่วย แต่อาจไม่ได้ป้องกันคุณจากการทำให้ผู้อื่นติดเชื้อ นั่นเป็นเหตุผล อย่างน้อยก็ในตอนนี้ว่า คุณควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าต่อไป รวมถึงรักษาระยะห่างจากผู้อื่น แม้คุณจะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

การทดลองทางคลินิกของวัคซีน Pfizer/BioNTech (ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเท็ค) และ Moderna (โมเดอร์น่า) พบว่า วัคซีนทั้งสองชนิดทำงานได้ดีในการป้องกันอาการของโรคโควิด-19 รวมถึงอาการรุนแรงของโรคนี้ แต่การทดลองก็ไม่ได้วัดว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะกระจายไวรัสสู่คนอื่นหรือไม่ และเป็นไปได้เช่นกันว่า วัคซีนป้องกันไม่ให้คนป่วย แต่ไม่ได้ป้องกันไวรัสจากการเจริญเติบโตของไวรัสในจมูกและคอของคนๆ นั้น

แล้วนั่นก็อาจไม่ได้หมายความว่า เรามีปริมาณไวรัสในจมูกและคอมากพอที่จะทำให้คนอื่นติดเชื้อได้ เป็นไปได้ว่าภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาโดยวัคซีน ซึ่งป้องกันไม่ให้คุณป่วย สามารถลดปริมาณไวรัสในจมูกและคอของคุณลงได้ด้วย จนถึงจุดที่ว่าคุณอาจไม่สามารถแพร่เชื้อต่อคนอื่นได้ แต่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ชัดในเรื่องนี้

ดังนั้น หากคุณเป็นคนกลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว คุณก็ยังควรสวมหน้ากากและรักษาระยะห่างจากคนอื่นต่อไป เพื่อปกป้องคนอื่นที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

เราควรฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่หากเราเคยเป็นโรคนี้แล้ว

วัคซีนโควิด-19

ข้อมูลของ CDC ชี้ว่า แม้แต่ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 ก็อาจได้ประโยชน์จากวัคซีน สิ่งเรารู้ก็คือ ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคนี้ก็อาจติดเชื้อได้อีก ถึงแม้จะพบไม่ได้ง่ายนักก็ตาม ในอีกทางหนึ่งก็คือ เราไม่รู้ว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อโควิด-19 ที่เกิดจากการที่เคยป่วยด้วยโรคนี้มาก่อน จะอยู่ได้นานแค่ไหน ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ระยะเวลาของภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจะอยู่ได้นานแค่ไหน และมีความแข็งแรงเพียงใด เหมือนกับที่เราก็ยังไม่รู้เช่นกันว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนจะอยู่ได้นานแค่ไหนเช่นกัน 

ในสหรัฐฯ จึงมีการฉีดวัคซีนให้แก่คนที่ทำงานแนวหน้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ก็ตาม เมื่อนักวิทยาศาสตร์เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติหลังการป่วยด้วยโรคโควิด-19 เงื่อนไขในการฉีดวัคซีนก็อาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/covid-19-vaccine-what-you-need-to-know

https://www.aarp.org/health/conditions-treatments/info-2020/coronavirus-vaccine-research.html

https://www.cdc.gov/vaccines/covid-19/index.html

https://www.who.int/news/item/31-12-2020-who-issues-its-first-emergency-use-validation-for-a-covid-19-vaccine-and-emphasizes-need-for-equitable-global-access

https://www.raps.org/news-and-articles/news-articles/2020/3/covid-19-vaccine-tracker

https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html

https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/coronavirus-resource-center

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *