วัคซีนโรคโควิด-19
0 0
Read Time:10 Minute, 30 Second

มาทำความรู้จักกับวัคซีนโรคโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติแบบฉุกเฉินในหลายประเทศทั่วโลก และมีการนำมาใช้งานอย่างจำกัดในกลุ่มเสี่ยงแล้ว

การพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 เป็นเสมือนภารกิจร่วมกันของทั่งโลก ดังนั้น การพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 จึงเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนทั่วโลก จากการติดตามของสถาบัน Milken Institute พบว่ามีอยู่ถึง 236 ราย และจากรายงานของ The Regulatory Affairs Professionals Society (RAPS) มีวัคซีนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเฟสที่ 2 และ 3 ถึง 55 รายในหลายประเทศทั่วโลก

ดังนั้น ไม่เพียงแต่วัคซีนโรคโควิด-19 ที่เริ่มฉีดให้แก่ประชาชนในสหรัฐและหลายประเทศในยุโรปอย่าง Pfizer-BioNTech (ไฟเซอร์/ ไบโอเอ็นเทค) Moderna (โมเดอร์น่า) และ AstraZeneca/ Oxford (แอสทราซีเนกา/ อ็อกฟอร์ด) แล้ว ก็ยังมีวัคซีนโรคโควิด-19 ซึ่งพัฒนาในหลายประเทศและได้รับอนุมัติอย่างฉุกเฉินอย่างน้อย 7 ชนิดนี้ ซึ่งเริ่มนำมาใช้งานอย่างจำกัดในกลุ่มผู้ทำงานด้านสาธารณสุขและกลุ่มเสี่ยงในหลายประเทศแล้ว ได้แก่

วัคซีนโรคโควิด-19 อื่นๆ มีอะไรบ้างในตอนนี้?

1 Corona Vac (ชื่อเดิม PiCoVacc)

วัคซีนโรคโควิด-19

เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้วและสารเสริมภูมิคุ้มกัน พัฒนาโดย Sinovac Biotech ในประเทศจีน โดยวัคซีนต้องฉีดสองเข็มห่างกัน 14-28 วัน

มีการประกาศผลของการทดลองในเฟส 1/2 เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งทดลองในอาสาสมัคร 743 คน ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรง และสามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ โดยผลจากการทดลองในเฟส 1/2 ได้นำมาเผยแพร่ไว้ใน Lancet Infectious Diseases เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020

การทดลองเฟส 3 เริ่มในเดือนกรกฎาคม 2020 ในบราซิล ตามด้วยอินโดนีเซียและตุรกี และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2020 นักวิจัยบราซิลก็ได้ประกาศว่า การทดลองเฟส 3 แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่สูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และในวันถัดมา ตุรกีก็แถลงว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่ได้เผยแพร่รายงานโดยละเอียดแต่อย่างใด โดย Sinovac มีแผนที่จะนำเสนอผลการทดลองเฟส 3 ทั้งหมดในเดือนมกราคม 2021 นี้

ในเดือนกรกฎาคม 2020 รัฐบาลจีนได้ให้การรับรองแบบฉุกเฉินแก่ CoronaVac สำหรับการใช้แบบจำกัด ต่อมาในเดือนตุลาคม เจ้าหน้าที่ของเมืองเจียเซียง (Jiaxing) ก็ประกาศว่าได้มีการฉีดวัคซีน CoronaVac ให้แก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ทำงานด้านบริการสาธารณะ

Sinovac ได้เตรียมการผลิตวัคซีน CoronaVac สำหรับการจำหน่ายไปทั่วโลก โดยคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 600 ล้านโดสต่อปี และในขณะนี้หลายประเทศ อย่างเช่นชิลี อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้มีการสั่งซื้อวัคซีนตัวนี้แล้ว โดย BBC รายงานว่า อินโดนีเซียจะได้รับการจัดส่งวัคซีนจำนวน 1.8 ล้านโดส ในเดือนมกราคมนี้ และจะมีการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่ผลิตได้ถึง 250 ล้านโดสอีกด้วย

2 BBIBP-CorV

วัคซีนโรคโควิด-19

พัฒนาโดย Beijing Institute of Biological Products ร่วมกับ China National Pharmaceutical Group หรือ Sinopharm บริษัทยาที่เป็นของรัฐบาลจีน โดยวัคซีนชนิดนี้สร้างขึ้นจากเชื้อตายของไวรัสโคโรน่า

เมื่อเดือนมิถุนายน นักวิจัยของสถาบันปักกิ่งได้รายงานว่า วัคซีนให้ผลที่น่าพึงพอใจในการทดลองในลิง  และผลของการทดลองเฟส 1 ซึ่งเผยแพร่ใน The Lancet Infectious Diseases แสดงให้เห็นว่า BBIBP-CorV มีความปลอดภัยในทุกระดับของปริมาณยา โดยผู้ร่วมการทดลองแสดงให้เห็นการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่อาศัยสารน้ำ (humoral immune response) ในเวลา 42 วันหลังการฉีด

จากนั้น การทดลองในเฟส 1/2 ก็แสดงให้เห็นว่า คซีนไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง และทำให้เกิดสร้างแอนตี้บอดี้ในร่างกายมนุษย์เพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าได้ การทดลองเฟส 3 ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2020 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ตามมาด้วยโมร็อคโคและเปรูในเดือนถัดมา

และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2020 Sinopharm ก็ประกาศว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 79.34 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทยังไม่ได้เผยแพร่ผลการทดลองในเฟส 3 ของตนเองออกมา

วัคซีนนี้ได้รับการอนุมัติแบบฉุกเฉินจากรัฐบาลจีนตั้งแต่ในช่วงฤดูร้อน เพื่อเริ่มฉีดให้แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเช่นผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ และคนที่มีความจำเป็นพิเศษ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ก็ได้ประกาศรับรองวัคซีนของซิโนฟาร์มเป็นการฉุกเฉิน เพื่อใช้กับผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ มาตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2020 จากนั้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ก็ใช้การรับรองอย่างเต็มรูปแบบแก่ BBIBP-CorV โดยประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูง 86 เปอร์เซ็นต์ และเริ่มให้การฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วไป เช่นเดียวกับในบาห์เรน ซึ่งเข้าร่วมการทดลองกับซิโนฟาร์ม ได้ให้การรับรองอย่างเต็มรูปแบบแก่วัคซีนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2020 และอียิปต์ซึ่งอนุมัติแบบฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2021

ในประเทศจีน ประธานของซิโนฟาร์มได้ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า ประชากรในจีนเกือบหนึ่งล้านคน ได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้ว และรัฐบาลจีนมีแผนที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากรให้ได้ 50 ล้านคนภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

3 วัคซีนของ Wuhan-Sinopharm

วัคซีนโรคโควิด-19

นอกจากการพัฒนาวัคซีนร่วมกับ Beijing Institute แล้ว Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) ยังได้เริ่มการทดลองวัคซีนที่พัฒนาจากเชื้อที่ตายแล้วร่วมกับ Wuhan Institute of Biological Products ภายใต้การดูแลของ Chinese Academy of Sciences  และในตอนนี้ได้รับการอนุมัติแบบฉุกเฉินในประเทศจีนแล้ว แต่ข้อมูลของเฟส 3 ยังไม่ได้รับการเผยแพร่

ซิโนฟาร์มได้เริ่มการทดลองเฟส 1/2 ในกลุ่มคนที่แข็งแรงอายุตั้งแต่ 6 ปี และเฟส 3 มีการทดลองในเปรู โมร็อคโค และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยผลการทดลองของเฟส 1/2 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA แสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีและมีผลข้างเคียงเล็กน้อย

วัคซีนเวอร์ชั่นอู่ฮั่นนี้กำลังอยู่ในการทดลองเฟส 3 ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จของวัคซีน BBIBP-CorV ที่ซิโนฟาร์มผลิตร่วมกับสถาบันปักกิ่ง ทำให้อนาคตของวัคซีนตัวนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด

4 Convidecia (หรือ Ad5-nCoV)

วัคซีนโรคโควิด-19

บริษัท CanSino Biologics ในประเทศจีนได้พัฒนาวัคซีน Convidecia ร่วมกับสถาบันชีววิทยาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์กองทัพบกประเทศจีน โดยวัคซีนผลิตจากไวรัสอะดิโน Ad5 แบบเดียวกับวัคซีนของแอสทราเซนาก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ซึ่งใช้ไวรัสอะดิโนจากลิงชิมแปนซี แต่ Convidecia ใช้ไวรัสอะดิโนจากมนุษย์

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 นักวิจัยได้เผยแพร่ผลการทดลองที่น่าพึงพอใจจากเฟส 1 ในเรื่องของความปลอดภัยของ Convidecia และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2020 ก็ได้รายงานในวารสาร The Lancet ถึงการทดลองในเฟส 2 ที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี

การทดลองเฟส 2 ทำในอู่ฮั่น ในกลุ่มผู้เข้าร่วม 508 คน ไม่พบผลกระทบที่ร้ายแรง แต่มีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และเจ็บบริเวณที่ฉีด ราว 90% ตอบสนองด้วยการสร้าง T-cell และราว 85% สร้างแอนตี้บอดี้ขึ้นมาเพื่อรับมือ

ผลของการศึกษาคล้ายกับการศึกษาวิจัยวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดซึ่งเผยแพร่ในวารสารเดียวกัน และโดยทั่วไปผลของการทดลองทั้งสองในภาพรวมค่อนข้างคล้ายกันและน่าพึงพอใจ

CanSino ประกาศเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2020 ว่าจะเริ่มการทดลองเฟส 3 ในอาร์เจนติน่าและชิลี และเริ่มการทดลองเฟส 3 ไปแล้วในปากีสถาน รัสเซีย และเม็กซิโก

รัฐบาลจีนได้อนุมัติวัคซีนนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนในฐานะที่เป็น “ยาซึ่งมีความจำเป็นเป็นพิเศษ” และ CanSino ก็แถลงในเดือนเดียวกันว่า Convidecia ได้รับอนุมัติให้ใช้สำหรับุคลากรในกองทัพ ซึ่งหลังการได้รับวัคซีน ยังไม่มีใครได้รับผลกระทบที่ร้ายแรง และมั่นใจในวัคซีนตัวนี้ แต่ก็ยังคงต้องการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม

และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน  2020 ซีอีโอของ CanSino ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า มีประชาชนราว 40,000-50,000 คนที่ได้รับวัคซีน Convidecia แล้ว

5 Sputnik V

วัคซีนโรคโควิด-19

พัฒนาโดย Gamaleya Research Institute, Acellena Contract Drug Research and Development ในประเทศรัสเซีย สร้างขึ้นมาจากส่วนผสมของไวรัสอะดิโนสองสายพันธ์ุคือ Ad5 และ Ad26 ซึ่งได้รับการทดสอบในการผลิตวัคซีนมาเป็นเวลานานหลายปี การที่นำเอาสองสายพันธุมาผสมกัน ก็เพราะนักวิทยาศตร์ของรัสเซียหวังที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ระบบภูมิคุ้มกันเห็นวัคซีนเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องถูกกำจัด

นักวิจัยเริ่มการทดลองทางคลนิกเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 และมีการประกาศรับรองวัคซีนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ก่อนการทดลองเฟส 3 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่า มีความเสี่ยงเกินไป รัสเซียจึงเปลี่ยนคำประกาศว่า เป็นการรับรองแบบมีเงื่อนไข ขึ้นอยู่กับผลการทดลองในเฟส 3 ซึ่งนอกเหนือจากการทดลองในรัสเซียแล้ว ยังมีการทดลองในเบลารุส สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเวเนซูเอล่า

จากรายงานที่เผยแพร่ใน The Lancet เมื่อเดือนกันยายน 2020 ผลของการทดลองในเฟส 1/2 ซึ่งเป็นการศึกษาขนาดเล็กพบว่า Sputnik V สามารถสร้างแอนตี้บอดี้เพื่อต่อต้านไวรัสโคโรน่าและมีผลข้างเคียงเล็กน้อย

ต่อมา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2020 รัสเซียได้ประกาศถึงผลการทดลองในเฟส 3 เป็นครั้งแรกว่า วัคซีนได้ผลดีและมีประสิทธิภาพถึง 92% และในวันที่ 14 ธันวาคม 2020 Gamaleya Research Institute ก็แถลงว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 91.4% และในเคสโควิด-19 ที่พบในการทดลอง 78 เคส มีเพียง 20 เคสที่มีอาการรุนแรง และทั้งหมดเป็นอาสาสมัครที่ได้รับยาหลอก

นักวิทยาศาสตร์ยังประกาศด้วยว่า พวกเขาไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ จากวัคซีนนี้ และในวันที่ 26 ธันวาคม ผู้พัฒนาวัคซีน Sputnik V ก็ทวีตข้อความระบุว่า พวกเขาพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 60 ปี แต่การทดลองนี้ได้มีการลดจำนวนผู้เข้าร่วมจาก 40,000 คนเหลือเพียง 31,000 คน ทำให้เกิดความวิตกว่าจะไม่ได้ข้อมูลที่เพียงพอที่จะสรุปได้ถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงยังไม่มีรายละเอียดของการทดลองทั้งหมดอย่างเต็มรูปแบบเผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย

ความเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งของ Gamaleya Institute ก็คือ การร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา AstraZeneca ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากไวรัสอะดิโนเช่นกัน เพื่อนำเอาวัคซีนของทั้งสองมารวมกัน เพื่อดูว่าจะให้การปกป้องที่ดียิ่งขึ้นกว่าการใช้เดี่ยวๆ หรือไม้ โดย AstraZeneca ได้ลงทะเบียนการทดลองในเฟส 1 สำหรับการผสมผสานวัคซีนสองชนิดนี้ไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020

นอกเหนือจากในรัสเซีย วัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองให้ใช้งานในอีกหลายประเทศ โดยเบลารุสเป็นประเทศแรกที่รับรอง Sputnik V ตามมาด้วยอาร์เจนติน่าที่อนุมติการใช้งานวัคซีน Sputnik V เป็นการฉุกเฉิน และเซอร์เบียที่จะเริ่มการใช้วัคซีนในเดือนมกราคมนี้

6 EpiVacCorona

วัคซีนโรคโควิด-19

พัฒนาโดย Federal Budgetary Research Institution State Research Center of Virology and Biotechnology Russia ประเทศรัสเซีย เป็นวัคซีนใช้โปรตีนที่เรียกว่าเป๊ปไทด์ และเป็นวัคซีนตัวที่สองที่ได้รับการอนุมัติในรัสเซีย

วัคซีนนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว ถึงแม้จะยังไม่ได้ผ่านการทดลองเฟส 3 และเจ้าหน้าที่จะแถลงว่าผู้เข้าร่วมการทดลองได้มีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในหนึ่งเดือนหลังการฉีดวัคซีนครั้งแรก แต่ยังไม่มีข้อมูลการทดลองอย่างเป็นทางการเผยแพร่ออกมา

7 Covaxin (หรือ BBV152 A, B, C)

วัคซีนโรคโควิด-19

เป็นการร่วมือกันระหว่าง Indian Council of Medical Research และ National Institute of Virology ในประเทศอินเดีย กับบริษัท Bharat Biotech ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนตัวนี้ โดยสร้างจากเชื้อตายของไวรัสโคโรน่า มีการศึกษาในลิงและหนูแฮมสเตอร์พบว่า สามารถให้การปกป้องต่อการติดเชื้อได้ การทดลองเฟส 1/2 แสดงให้เห็นว่าวัคซีนไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง และสามารถสร้างแอนตี้บอดี้ต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าได้ การทดลองเฟส 3 ประกาศเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2020 บริษัทประกาศความร่วมมือกับบริษัท Ocugen ในเพนซิลวาเนีย สหรัฐฯ เพื่อผลิตวัคซีนสำหรับตลาดสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 3 มกราคม รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติการใช้วัคซีนแบบฉุกเฉินในวงจำกัด ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการปล่อยข้อมูลของเฟส 3 ที่แสดงให้เห็นว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแค่ไหน

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *