ความวิตกกังวลจากโรคโควิด-19
0 0
Read Time:6 Minute, 36 Second

โรคโควิด-19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลายอย่าง ที่นำมาซึ่งความวิตกกังวล อย่าปล่อยให้ความวิตกกังวลจากโรคโควิด-19 บั่นทอนคุณ ต่อไปนี้คือวิธีดีๆ ในการรับมือ

ในช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแต่ความปั่นป่วนและไม่แน่นอนเช่นนี้ เราทุกคนต่างก็รู้สึกวิตกกังวลกันทั้งนั้น แต่สำหรับบางคน นี่ไม่ใช่เพียงแค่ “ความรู้สึก” เท่านั้น

“คนเรากำลังเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลเป็นอย่างมากเป็นครั้งแรก” ศ.เจเลน่า เคคมาโนวิค นักจิตวิทยาคลินิก ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันบำบัดพฤติกรรม Arlinton/DC ในสหรัฐฯ บอก “มันเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติที่ถือว่าปกติ ต่อความไม่แน่นอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่เป็นภัยคุกคามต่อความเจ็บป่วย ความเครียด และชีวิตที่ถูกจำกัดเช่นนี้”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณไม่คุ้นเคยกับมัน ความวิตกกังวลและความกลัวอาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะได้ แต่ก็มีวิธีที่จะจัดการกับความวิตกกังวลจากโรคโควิด-19 เหล่านี้ได้

อาการของความวิตกกังวล

ความวิตกกังวลจากโรคโควิด-19

ความวิตกกังวลอาจมีอาการได้หลายอย่าง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ข้อมูลจากองค์กร Beyond Blue ในออสเตรเลีย ระบุว่าคุณอาจมีอาการแพนิกหรือตื่นกลัว ร้อนสลับหนาว หัวใจเต้นแรงเร็ว แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หรือรู้สึกเกร็ง หมดแรง และหงุดหงิด

และยังอาจมีความกลัวแบบเกินจริง คิดว่าสิ่งที่เจอคือหายนะของชีวิต หรือคิดหมกมุ่น รวมถึงการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวล

อาการทั่วไปบางอย่างที่สามารถเกิดจากความวิตกกังวลได้แก่

  • นอนไม่หลับ เราส่วนใหญ่รู้ดีว่าความวิตกกังวลนำไปสู่โรคนอนไม่หลับและปัญหาการนออื่นๆ เช่น หลับยาก ตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมด้วยหัวใจเต้นรัว และกลับไปนอนหลับอีกครั้งได้ยาก และวงจรอุบาทว์ก็คือ ยิ่งเรานอนน้อยเท่าไหร่ อาการวิตกกังวลของเราก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
  • วอกแวกและไม่มีสมาธิ มนุษย์ได้วิวัฒนาการมาให้โฟกัสไปที่สิ่งคุกคาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บรรพบุรุษของเราเอาตัวรอดจากอันตรายได้ เนื่องจากโควิด-19เป็นสิ่งคุกคามสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของเรา เราก็มักจะหมกมุ่นไปกับการอ่านและการดูข่าวเรื่องนี้ และครุ่นคิดวิธีที่จะปกป้องตัวเราเอง ในขณะที่ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน การเรียนออนไลน์ของลูกหลาน ทำให้สมองของเราต้องทำงานอย่างหนัก และเมื่อเราไปจดจ่อกับเรื่องโควิด เราก็ยิ่งพบว่าไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งอื่นๆ ที่ต้องทำได้
  • ขี้หลงขี้ลืม คนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในการจดจำและการจัดการกับข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกัน อย่างเช่น ขั้นตอนการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ หรือประเด็นสำคัญจากการประชุมออนไลน์ สิ่งเหล่านี้คืองานที่ต้องใช้สิ่งที่จิตวิทยาเรียกว่าความทรงจำที่ใช้ในการทำงาน (working memory) และงานวิจัยเมื่อปี 2016 ก็พบว่าความวิตกกังวลมีผลกระทบในทางลบกับความทรงจำ
  • หงุดหงิดและโกรธง่าย คุณพบว่าทุกวันนี้คุณค่อนข้างหุดหงิดง่ายหรือเปล่า ถึงแม้จะมีปัจจัยหลายอย่างที่กระตุ้นความโกรธและความหงุดหงิดได้ แต่งานวิจัยก็ชี้ว่าความวิตกกังวลก็สามารถผลักดันให้เกิดอารมณ์เหล่านี้เช่นกัน
ความวิตกกังวลจากโรคโควิด-19

ความวิตกกังวล VS โรควิตกกังวล

เมื่อพูดถึงความวิตกกังวล สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างความรู้สึกวิตกกังวลกับโรควิตกกังวลก่อน

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นโรคทางจิตใจอย่างหนึ่งที่มีอาการรุนแรงและต่อเนื่องที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่ความวิตกกังวลนั้น ทุกคนสามารถรู้สึกวิตกกังวลได้เป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอารมณ์มนุษย์ และก็เป็นที่เข้าใจได้เมื่อเจอกับระดับของความไม่แน่นอนและความเครียด เช่นที่กำลังเจอกันอยู่ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้

แต่เพียงเพราะว่าเรารู้สึกวิตกกังวล ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นโรคทางจิตใจ แต่มันขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของมัน อย่างไรก็ตาม ดร.เจเลน่ามีความกังวลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรควิตกกังวลอยู่แล้ว “คนพวกนี้จะมีความเปราะบางมากเป็นพิเศษในสถานการณ์ปัจจุบัน”

ความวิตกกังวลจากโรคโควิด-19

วิธีรับมือความวิตกกังวลจากโรคโควิด-19

ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลแบบปกติที่เข้าใจได้ หรือโรควิตกกังวล คำแนะนำในการรับมือจากผู้เชี่ยวชาญบนพื้นฐานงานวิจัยทางด้านจิตวิทยา สามารถช่วยคุณได้ และนี่คือวิธีการสำหรับคุณ

1 ทำความเคยชินกับความไม่แน่นอน

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องบรรเทาการกลับไปสู่พฤติกรรมแสวงหาความแน่นอน เพื่อช่วยคุณสร้างความอดทนต่อความไม่แน่นอน

ลองเริ่มต้นทีละเล็กละน้อย ตัวอย่างเช่น อย่าส่งข้อความถึงเพื่อนแบบทันที ครั้งต่อไปที่คุณต้องการรู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขา หรือพยายามออกไปเดินเล่นข้างนอก โดยไม่ต้องเช็คสภาพอากาศล่วงหน้า

การสร้างความอดทนต่อความไม่แน่นอนเหล่านี้ จะช่วยให้คุณลดเวลาในการพยายามหาข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับโรคโควิดในแต่ละวันลงได้

2 อยู่กับความรู้สึกวิตกกังวลของตัวเอง

เราส่วนมากจะพยายามที่จะวิ่งหนีจากความวิตกกัลวงของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการดื่ม การดูทีวีมากขึ้น หรือหมกมุ่นอยู่กับการดูข่าว

ดร.เจเลน่าแนะนำว่าให้ลองอยู่กับความรู้สึกไม่สบายเหล่านั้น “เมื่อความวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิดเริ่มเกิดขึ้นมา ให้สังเกตเห็นบรรยายประสบการณ์นั้นกับตัวเองหรือคนอื่น โดยไม่ตัดสิน” เธอบอก เราควรต้องเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลให้เต็มตา และยอมรับว่านี่คือช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุด และแค่ผ่านวันนั้นไปให้ได้

คุณอาจต้องการสิ่งที่ช่วยเบี่ยงเบนเนิดหน่อย เช่น การดูซีรีส์ แต่ปกติแล้วสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการหาเวลายอมรับความวิตกกังวลและรู้สึกถึงความกลัวของตัวเอง ซึ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ถ้าคุณปล่อยให้ตัวเองสัมผัสกับความรู้สึกนั้น มันจะผ่านไปได้

3 ก้าวข้ามจากความวิตกกังวลที่มีอยู่

ภัยคุกคามต่อสุขภาพกระตุ้นความกลัวที่เป็นรากฐานของความกลัวทุกอย่างนั่นก็คือ ความกลัวต่อความตาย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตายของตนเอง คนเราอาจเกิดความวิตกกังวลต่อสุขภาพ และเน้นไปที่การมองหาสัญญาณของความเจ็บป่วยจนเกินกว่าเหตุ

ลองเปลี่ยนมาพยายามเชื่อโยงตัวเองกับเป้าหมายของชีวิตและสิ่งที่เป็นความหมายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตวิญญาณ สัมพันธภาพ หรือการตามไล่ล่าความฝันอะไรสักอย่าง เริ่มดำเนินการในสิ่งสำคัญที่คุณผัดผ่อนมาหลายปี และรับผิดชอบในวิธีการใช้ชีวิตของตัวเอง การเน้นหรือค้นหาเหตุผลของชีวิตสามารถช่วยคุณได้มากในการรับมือกับความวิตกกังวลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้

4 มองภัยคุกคามตามความเป็นจริง

โควิดเป็นโรคอันตราย และทุกคนก็ควรทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจังเพื่อปกป้องตัวเองและชุมชนให้ปลอดภัย แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่จะไม่จมอยู่กับรายงานข่าวที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เรื่องที่เกินจริงทางสื่อ หรือที่ส่งกันต่อมาทางออนไลน์

“เพื่อลดความวิตกกังวล ขอแนะนำให้จำกัดการรับข่าวเกี่ยวกับโควิดเอาไว้ไม่มากกว่าวันละ 30 นาที” ดร.เจเลน่าบอก “จำไว้ว่าเราจะวิตกกังวลมากขึ้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน”

5 ดูแลสุขภาพให้ดี

การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการช่วยลดความวิตกกังวล ให้แน่ใจว่าเราทำในสิ่งที่ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี และหลับพักผ่อนให้พอเพียง สร้างกิจวัตรของการอยู่บ้านเพื่อให้เรารู้สึกว่าควบคุมสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น

จำไว้ว่าเราอาจไม่รู้ว่าจะจัดการกับไวรัสนี้อย่างไร แต่ระบบภูมิคุ้มกันของเราเป็นตัวจัดการที่ชาญฉลาดสำหรับการติดเชื้อชนิดใหม่นี้ และร่างกายของเราก็จะจัดการได้ดีกว่า ถ้าเราบำรุงรักษามันอย่างดีและปกป้องมัน

6 ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ

การพบกับมืออาชีพเป็นไอเดียที่ดี ไม่ว่าจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หรือองค์กรสุขภาพจิตต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้คุณสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน

คุณยังสามารถพูดคุยกับคนที่คุณรู้จักซึ่งรู้จักกับความวิตกกังวลดี ซึ่งมักมีหลากหลายวิธีในการหาวิธีบรรเทาความวิตกกังวลของตัวเอง

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *