พฤติกรรมการใช้ชีวิต
0 0
Read Time:13 Minute, 48 Second

ความสุขของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าคุณจะคิดว่าความสุขคืออะไร การมีชีวิตที่มีความสุขไม่ไกลเกินเอื้อม พฤติกรรมการใช้ชีวิตเหล่านี้ช่วยคุณได้จริงๆ

นิยามของความสุข…อาจแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน สำหรับบางคน อาจเป็นการพึงพอใจกับตัวตนของตัวเอง การมีงานการที่มั่นคง มีเพื่อนที่ยอมรับในตัวคุณอย่างไม่มีเงื่อนไข หรืออิสระที่จะทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะคิดว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร การมีชีวิตที่มีความสุขและมีความพึงพอใจในชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เล็กน้อย ก็สามารถช่วยให้คุณพบเจอความสุขที่ต้องการได้

ต่อไปนี้เป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ที่จะช่วยให้คุณเริ่มต้นเส้นทางแห่งความสุขของคุณได้ แค่จำไว้ว่าความสุขในแบบของแต่ละคนนั้น แตกต่างกันไป และเส้นทางในการมีความสุข ก็จะแตกต่างกันไปเช่นกัน

ถ้าพฤติกรรมการใช้ชีวิตเหล่านี้บางอย่าง ทำให้คุณเกิดความเครียด หรือไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ก็ไม่ต้องทำ การใช้เวลาและการฝึกฝนเล็กน้อย จะทำให้คุณจะรู้เองว่า อะไรที่ได้ผล หรือไม่ได้ผลสำหรับคุณ

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

1 ยิ้ม

คนเรามักจะยิ้มเมื่อมีความสุข แต่คุณไม่จำเป็นต้องยิ้มเฉพาะเวลาที่มีความสุข เพียงแค่ยิ้มออกมาก็พอ การยิ้มทำให้สมองหลั่งโดพามีน ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องเดินยิ้มไปมาตลอดเวลาเหมือนคนบ้าหรอกนะ แค่ครั้งหน้าที่คุณรู้สึกไม่ดี ให้ลองยิ้มดู แล้วลองดูว่าอะไรเกิดขึ้น หรือลองยิ้มให้ตัวเองในกระจกทุกๆ เช้า แล้วลองสังเกตความรู้สึกของตัวเองดู

2 ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายไม่ได้ดีแค่กับร่างกายของเรา แต่การออกกำลังกายเป็นประจำ ยังสามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และอาการของโรคซึมเศร้า พร้อมกับเพิ่มความมั่นใจในตัวเองและความสุขด้วย

และการออกกำลังกาย ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการวิ่งมาราธอน หรือแข่งไตรกีฬา แค่การออกกำลังกายเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว (เว้นเสียแต่การวิ่งมาราธอนหรือไตรกีฬาคือความฝันของคุณ) โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น อย่าเริ่มด้วยการออกกำลังกายหนักๆ แบบปัจจุบันทันด่วน ไม่เช่นนั้นคุณอาจลงเอยด้วยอาการเจ็บปวดและความเครียด แทนที่จะมีความสุข เริ่มต้นอย่างช้าๆ ด้วยการออกกำลังกายง่ายๆ เช่น

  • เดินเล่นแถวๆ บ้านหลังอาหารค่ำ
  • ลงเรียนคลาสโยคะระดับเริ่มต้น
  • เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการยืดกล้ามเนื้อ 5 นาที

หรือนึกถึงกิจกรรมใดก็ได้ ที่คุณเคยชอบแต่เลิกทำไปนานแล้ว หรือที่คุณเคยอยากลองทำ ไม่ว่าจะเป็นโบว์ลิ่ง กอล์ฟ หรือการเต้นรำ ตอนนี้ก็ถึงเวลาลองเริ่มต้นกับมันแล้ว

3 นอนให้เพียงพอ

ไม่ว่าชีวิตในสังคมยุคใหม่จะทำให้เรามีเวลาน้อยลงแค่ไหน เราต้องจำไว้ว่า การนอนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของสมอง และสุขภาพที่ดีของเรา

ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องการเวลานอน 7-8 ชม.ในแต่ละคืน ถ้าคุณรู้สึกง่วงตอนกลางวัน หรือรู้สึกมึนๆ ตลอดวัน ร่างกายของคุณก็อาจกำลังบอกว่า คุณต้องการพักผ่อนมากขึ้น ลองใช้เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ ในการสร้างพฤติกรรมการนอนที่ดีขึ้น

  • จดบันทึกว่าคุณนอนกี่ชั่วโมงในแต่ละคืน และคุณรู้สึกอย่างไร หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ คุณจะเห็นภาพว่าคุณนอนพอหรือไม่ และควรปรับอย่างไร
  • เข้านอนและตื่นเวลาเดียวกันทุกวัน รวมทั้งวันหยุดด้วย
  • ใช้ช่วงเวลาก่อนเข้านอนหนึ่งชั่วโมง ให้เป็นเวลาของความสงบเงียบ อาบน้ำ อ่านหนังสือ หรือทำอะไรก็ตามที่ทำให้ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการกินหรือดื่มมากเกินไป
  • ให้ห้องนอนของคุณมืด เย็น และเงียบ
  • ลงทุนกับเครื่องนอนดีๆ เพื่อให้นอนสบายที่สุด
  • ถ้าคุณอยากนอนงีบตอนกลางวัน พยายามอย่างีบเกิน 20 นาที
  • ถ้าคุณมีปัญหาการนอนที่ไม่หายไป ลองปรึกษาแพทย์ คุณอาจมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอนที่ต้องรับการรักษา

4 กินให้อารมณ์ดี

คุณรู้อยู่แล้วว่า อาหารการกินส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมอย่างไร แต่อาหารก็สามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น คาร์โบไฮเดรตทำให้สมองหลั่งเซโรโทนิน ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี แค่พยายามอย่ากินคาร์โบรไฮเดรตเชิงเดี่ยว (อาหารที่มีน้ำตาลและแป้งพลังงานสูง) ให้มากเกินไป (หรือไม่กินเลย) เพราะพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงสั้นๆ จะทำให้คุณรู้สึกแย่หลังจากนั้น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างเช่นผัก ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ส่วนเนื้อไขมันต่ำ พืชตระกูลถั่ว และผลิตภัณฑ์นม ก็เป็นอาหารโปรตีนสูง ที่จะทำให้มีการหลั่งโดพามีนและนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) ซึ่งช่วยเพิ่มพลังงานและสมาธิ

อาหารผ่านกระบวนการหรืออาหารทอด มักทำให้คุณรู้สึกไม่ดีได้ ฉะนั้น พยายามอย่ากินหรือกินให้น้อยที่สุด

ลองเริ่มต้นด้วยการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพวันละหนึ่งอย่าง ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนจากการกินขนมปังหวานอันใหญ่ในตอนเช้า เป็นกรีกโยเกิร์ตกับผลไม้ คุณจะยังคงได้รับความหวานที่ทำให้พึงพอใจ และโปรตีน ที่ช่วยให้ไม่เกิดอาการพลังงานต่ำในช่วงก่อนเที่ยง

5 ขอบคุณสิ่งดีๆ ในชีวิต

งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่า การรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตสามารถสร้างผลกระทบอย่างมากต่อความรู้สึกของความหวังและความสุขของคนเรา

ฉะนั้น ลองเริ่มต้นวันด้วยการนึกถึงเรื่องดีๆ สักเรื่องหนึ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณ แล้วจากนั้น ก็พยายามมองที่สิ่งดีๆ ที่อยู่ในชีวิตของคุณ อย่างเช่นรับรู้ถึงความรักที่คนอื่นมีต่อคุณ ผลสำเร็จในเรื่องงาน หรืออาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ อย่างเช่นเพื่อนร่วมงานซื้อขนมมาฝาก หรือเพื่อบ้านที่โบกมือทักทายตอนออกจากบ้าน แม้แต่เพียงสายลมอ่อนๆ ที่พัดมาสัมผัสใบหน้า การระลึกถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ จะทำให้คุณตื่นตัวมากขึ้นกับสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ

6 ชื่นชมผู้อื่น

งานวิจัยชี้ว่า การหยิบยื่นน้ำใจต่อคนอื่นแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้คนเรารู้สึกพึงพอใจได้ การชมคนอื่นอย่างจริงใจ เป็นวิธีการง่ายๆ และรวดเร็วในการทำให้คนอื่นรู้สึกดี และก็ทำให้เราเองมีความสุขด้วย จ้องมองดวงตาของอีกฝ่าย ขณะที่กล่าวคำชมด้วยด้วยรอยยิ้ม เพื่อให้ฝ่ายนั้นรู้ว่า คุณหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ คุณอาจประหลาดใจที่นั่นทำให้คุณรู้สึกดีได้แค่ไหน

ถ้าคุณอยากชมคนอื่นในเรื่องรูปร่างหน้าตา พยายามให้แน่ใจว่าเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

7 หายใจลึกๆ

เมื่อคุณเครียด ไหล่ของคุณจะเกร็ง สัญชาตญาณอาจบอกให้คุณหายใจเข้าลึกๆ เพื่อทำให้ตัวเองสงบลง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องดี จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า การฝึกหายใจเข้าลึกๆ สามารถช่วยลดความเครียดได้ ครั้งต่อไปที่คุณรู้สึกเครียด หรือรู้สึกตึงจนแทบจะขาดผึง ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • หลับตา ลองนึกถึงสถานที่หรือความทรงจำอันสวยงาม
  • หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ทางจมูก
  • ค่อยๆ หายใจออกช้าๆ ทางปากหรือจมูก
  • ทำกระบวนการนี้ซ้ำ จนกระทั่งคุณเริ่มรู้สึกสงบลง

ถ้าคุณไม่สามารถหายใจแบบนี้เองได้ ลองพยายามนับ 1 ถึง 5 ในหัวพร้อมไปกับหายใจเข้าและออก

8 รับรู้ถึงช่วงเวลาที่ไม่มีความสุข

เรื่องดีๆ ใครๆ ก็ชอบ แต่เรื่องไม่ดีก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเช่นกัน ถ้าคุณได้รับข่าวร้าย ทำสิ่งผิดพลาด หรือแค่รู้สึกว่าตัวเองกำลังย่ำแย่ อย่าพยายามทำเป็นมีความสุข แต่ให้รับรู้ถึงความรู้สึกไม่มีความสุขนั้น ปล่อยให้ตัวเองซึมซับความรู้สึกเช่นนั้นสักครู่ จากนั้น พยายามพิจารณาเรื่องที่ทำให้คุณรู้สึกแบบนี้ และสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ การหายใจเข้าออกลึกๆ ช่วยได้หรือเปล่า ออกไปเดินเล่นข้างนอกจะดีมั้ย หรือจะไปคุยกับใครสักคนดี ปล่อยให้ช่วงเวลานั้นผ่านไป และดูแลตัวเองให้ดี จำไว้ว่า ไม่มีใครมีความสุขได้ตลอดเวลา

9 จดบันทึกประจำวัน

การจดบันทึกหรือเขียนไดอารี่ เป็นสิ่งที่ดีในการรวบรวมความคิดของตัวเอง วิเคราะห์ความรู้สึก และวางแผน คุณไม่ต้องเป็นคนเขียนหนังสือเก่งหรือต้องเขียนเยอะๆ แต่อย่างใด เพียงแค่จดสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันลงไปแบบง่ายๆ ก่อนที่จะเข้านอน ถ้าการเขียนออกมาทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจ คุณก็สามารถฉีกมันทิ้งได้เมื่อเขียนจบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการนี้เช่นกัน

10 เผชิญหน้ากับความเครียด

ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องเครียด และเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกหนีมันทั้งหมด และก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ความเครียดไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป และเราต้องรู้จักที่จะเผชิญหน้ากับมันให้ดี

สำหรับความเครียดที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เตือนตัวเองว่า ทุกคนต่างก็มีความเครียด ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะกับเรา และเป็นไปได้ว่า คุณอาจแข็งแกร่งกว่าที่ตัวเองคิดเยอะ

แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองหมกหมุ่นกับความเครียด พยายามเอาชนะมันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นพูดุยในเรื่องที่อาจทำให้ไม่สบายใจ หรือการทำงานเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคุณจัดการมันได้แล้ว ในไม่ช้าความเครียดก็จะลดลงไปเอง

พฤติกรรมประจำสัปดาห์

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

11 เก็บกวาดความรกรุงรัง

การกำจัดความรกรุงรังอาจฟังดูเหมือนโปรเจ็คท์ใหญ่โต แต่การหาเวลาสัปดาห์ละแค่ 20 นาที สามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้นะ

เราสามารถทำอะไรได้บ้างในเวลา 20 นาทีน่ะหรือ มากมายเลยล่ะ

  • ใช้มือถือตั้งเวลา 15 นาที แล้วใช้ 15 นาทีนั้น ในการเก็บกวาดมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน เช่น ในตู้เสื้อผ้า หรือลิ้นชัก เอาทุกอย่างเก็บให้เข้าที่ และโยนของที่ไม่จำเป็นทิ้งไปซะ
  • หากล่องมาใส่ของสำหรับบริจาค เพื่อทำให้ทุกอย่างเป็นระเบียบ และหลีกเลี่ยงการสร้างความรกเพิ่มขึ้น
  • ใช้เวลาอีก 5 นาทีที่เหลือในการเดินสำรวจรอบๆ บ้าน อะไรที่ออกมาเกะกะขวางทาง ก็เก็บซะ คุณสามารถทำแบบนี้สัปดาห์ละครั้ง หรือวันละครั้งก็ได้ หรือเมื่อใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกว่าบ้านรกจนทนไม่ไหวแล้ว

12 ไปหาเพื่อน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการมีเพื่อนสนิทก็สามารถทำให้เรามีความสุขมากขึ้นได้ คุณคิดถึงใคร ก็ติดต่อไปหาคนนั้น นัดเจอกันหรือแค่คุยกันทางโทรศัพท์ก็ได้

เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะมีเพื่อนใหม่ๆ แต่ก็ไม่เกี่ยวกับว่าคุณมีเพื่อนมากแค่ไหน มันเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์ที่มีความหมาย แม้จะเพียงแค่คนหรือสองคนก็ตาม

คุณอาจลองไปทำงานอาสาสมัคร หรือเข้าคลาสเรียนอะไรใหม่ๆ ทั้งสองอย่างจะช่วยให้คุณได้รู้จักกับคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน และคนเหล่านั้นก็อาจกำลังมองหาเพื่อนด้วยเช่นกัน

การเป็นเพื่อนไม่ได้จำกัดอยู่แค่คน สัตว์เลี้ยงก็ได้ประโยชน์แบบเดียวกัน ผลจากงานวิจัยหลายชิ้นบอกเช่นนั้น

13 วางแผนสิ่งที่ต้องทำ

ถ้ารู้สึกว่าตัวเองล่องลอยไปมา ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ลองใช้เวลาปลายสัปดาห์ในการวางแผนรายการของสัปดาห์ถัดไป ไม่ว่าคุณจะทำตามแผนได้หรือไม่ แต่การกันเวลาเอาไว้ว่าคุณต้องซักผ้า ไปจ่ายของ หรือโปรเจ็คท์งาน จะช่วยให้จิตใจคุณไม่ร้อนรน เพราะคุณรู้อยู่แล้วว่า จะต้องเจอกับะไรบ้างในสัปดาห์ถัดไป

14 ทิ้งมือถือซะบ้าง

หยุดการเชื่อมต่อบ้าง พูดจริงๆ นะ ปิดอุปกรณ์ทั้งหลายแหล่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ให้ตัวเองได้อยู่เงียบ อ่านหนังสือ ทำสมาธิ หรือออกไปเดินเล่น และใส่ใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ออกไปสังสรรค์ หรือแม้แต่อยู่คนเดียว ถ้าชั่วโมงนึงฟังดูน่ากลัวเกินไป ก็ลองเริ่มต้นช่วงสั้นๆ หลายๆ ครั้งในสัปดาห์แล้วค่อยเพิ่มขึ้น แล้วคุณจะรู้สึกประหลาดใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดการเชื่อมต่อซะบ้าง

15 สัมผัสธรรมชาติ

ใช้เวลาสัก 30 นาทีหรือมากกว่านั้นสักสัปดาห์ละครั้ง ในการออกไปเดินบนพื้นที่สีเขียว ผลจากการวิจัยเมื่อปี 2016 ชี้ว่า นี่สามารถช่วยลดความดันโลหิตและลดอาการซึมเศร้าได้ 

พื้นที่สีเขียวจะเป็นที่ไหนก็ได้ อาจเป็นสวนหลังบ้านหรือสวนสาธารณะ ที่ใดก็ตามที่คุณได้สัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์และธรรมชาติ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็เพิ่มการออกกำลังกายกลางแจ้งเข้าไปอีกหน่อย

16 เรียนรู้การทำสมาธิ

การทำสมาธิมีหลายรูปแบบ มีทั้งการเคลื่อนไหว การอยู่นิ่งๆ หรือพิธีกรรมทางศาสนา หรือสามอย่างรวมกันก็ได้ แต่จริงๆ แล้ว การทำสมาธิไม่จำเป็นต้องยุ่งยากหรือซับซ้อน เพียงแค่อะไรง่ายๆ อย่างการนั่งเงียบๆ อยู่กับตัวเองสัก 5 นาที แม้กระทั่งการฝึกหายใจลึกๆ ที่บอกไปก่อนหน้านี้ ก็ถือเป็นการทำสมาธิรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน

17 ปรนเปรอตัวเอง

เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะละเลยตัวเองในโลกอันวุ่นวายนี้ แต่ร่างกายคือที่พำนักของความคิด ความรู้สึก และจิตวิญญาณ จึงสมควรที่ร่างกายของเราจะได้รับการดูแลด้วยความใส่ใจ

บางทีอาจเป็นการแช่น้ำอุ่นหลังทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน การไปนวดหน้า หรือแค่หาเวลานั่งดูหนังที่คุณชอบและดูค้างเอาไว้ ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ลองหาเวลาทำสิ่งต่างๆ เพื่อปรนเปรอตัวเองบ้าง และจดใส่ปฏิทินเอาไว้เลยว่า คุณมีนัดกับตัวเอง

พฤติกรรมประจำเดือน

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

18 ทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่น

ถ้าคุณพบว่าการให้คำชมผู้อื่นในแต่ละวัน ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ก็ลองยกระดับการให้ของคุณให้ใหญ่ขึ้นไปอีกในแต่ละเดือน บางทีอาจเป็นการไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า การทำงานอาสาสมัคร หรือแม้แต่ช่วยเพื่อนเลี้ยงลูกสักเดือนละครั้ง

19 พาตัวเองไปเที่ยว

ไม่มีคนไปเที่ยวด้วยงั้นหรือ มีใครบอกว่าคุณออกไปเที่ยวคนเดียวไม่ได้ล่ะ ไปกินข้าวร้านโปรดของคุณ ไปดูหนัง หรือไปเที่ยวที่คุณอยากไปมานานแล้ว ไปคนเดียวก็ได้นี่นา ถึงแม้ปกติคุณจะชอบอยู่กับคนหมู่มาก แต่การได้ใช้เวลาอย่างอิสระกับตัวเองคนเดียว ก็สามารถทำให้คุณได้ดื่มด่ำกับสิ่งที่คุณชอบจริงๆ ซึ่งสามารถทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นได้

20 เขียนรายการความคิด

เมื่อเริ่มต้นแต่ละเดือน เขียนรายการความทรงจำหรือสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข และกำลังตั้งตารอ จะเขียนลงในสมุดโน้ตหรือจดไว้ในมือถือของคุณก็ได้ และเมื่อคุณต้องรออะไรสักอย่าง ก็หยิบโน้ตขึ้นมาอ่านในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น คุณยังสามารถอ่านโน้ตนี้ได้ในเวลาที่รู้สึกไม่ดี หรือต้องการหันเหความสนใจ

พฤติกรรมประจำปี

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

21 ทบทวนและใคร่ครวญ

ช่วงเวลาเริ่มต้นปีใหม่ เป็นช่วงเวลาดีๆ ในการหยุดคิดและพิจารณาชีวิตของตัวเอง หาเวลาอยู่กับตัวเอง และทักทายตัวเองแบบเดียวกับที่คุณจะคุยกับเพื่อนเก่าสักคน

  • เธอสบายดีหรือเปล่า
  • เธอกำลังทำอะไรอยู่
  • เธอมีความสุขมากกว่าปีที่แล้วหรือเปล่า

พยายามหลีกเลี่ยงการตัดสินหรือตำหนิตัวเองรุนแรงเกินไป เวลาที่คุณตอบคำถามแต่ละอย่าง คุณผ่านมาได้ปีนึงแล้ว และนั่นก็มากเกินพอแล้ว

ถ้าคุณพบว่าอารมณ์ของคุณไม่ได้ดีขึ้นเลยในช่วงปีที่ผ่านมา ลองพิจารณาการไปพบหมอหรือนักบำบัด คุณอาจกำลังมีปัญหาเรื่องซึมเศร้า หรืออาจมีปัญหาสุขภาพอะไรที่ซ่อนอยู่ ที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคุณก็ได้

22 ประเมินเป้าหมายใหม่

คนเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ลองคิดถึงจุดหมายที่คุณกำลังมุ่งหน้าไป และคิดดูดีๆ ว่านั่นเป็นจุดหมายที่คุณยังต้องการไปให้ถึงอยู่หรือเปล่า ไม่มีอะไรน่าอายที่ต้องเปลี่ยนจุดหมายปลายทาง ปล่อยวางเป้าหมายที่ไม่เหมาะกับเราอีกต่อไป ถึงแม้มันจะยังฟังดูสวยงามอยู่ก็ตามที แต่ถ้ามันไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่อยู่ดี

23 ดูแลร่างกายให้ดี

เราย้ำมาหลายครั้งแล้วว่า ร่างกายและจิตใจของคุณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อคุณพยายามสร้างพฤติกรรมที่ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น อย่าลืมที่จะดูแลร่างกายให้ดีๆ และในแต่ละปีคุณต้องไม่ลืมที่จะ

  • ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
  • ใส่ใจกับโรคประจำตัวที่คุณมี และไปพบหมอตามนัดเสมอ
  • ตรวจสุขภาพฟัน
  • ตรวจสายตา

24 ปล่อยวางเรื่องหมางใจ

สิ่งนี้อาจพูดง่ายกว่าทำ แต่คุณไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อคนอื่น บางครั้งการให้อภัยหรือการปล่อยวางหมางใจทั้งหลาย เป็นเรื่องของการใส่ใจตัวเองมากกว่าคนอื่น ลองพิจารณาความสัมพันธ์ของคุณกับคนอื่น มีความไม่พอใจอะไรที่คุณเก็บเอาไว้ ถ้ามี ก็พยายามสะสางเรื่องนี้ซะ นี่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคืนดีกับทุกคน แต่บางทีมันอาจหมายถึงการจบสิ้นความสัมพันธ์นั้น แล้วก้าวต่อไป

แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อกับคนนั้นได้ตรงๆ ลองเขียนความรู้สึกของคุณออกมาเป็นจดหมาย คุณอาจไม่ต้องส่งมันไปก็ได้ แค่ปลดปล่อยความรู้สึกออกมา ก็ถือเป็นการปลดปล่อยตัวเองแล้วเช่นกัน

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *