ดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง
0 0
Read Time:6 Minute, 49 Second

เคล็ดลับที่จะช่วยในการดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง เพื่อให้คุณปลอดโรคที่อาจจะเจอได้ในระหว่างนั้น ไม่ว่าจะมีโควิดระบาดหรือไม่ก็ตาม

การเดินทางเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวหรือเพื่อการทำงาน และในยุคโควิดแบบนี้ ไม่ต้องบอกก็คงรู้กันว่า การระมัดระวังและดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญแค่ไหน โดยเฉพาะในระหว่างการเดินทาง ที่โอกาสในการติดเชื้อ (ทุก) โรคจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณจำเป็นต้องเดินทาง ก็ดูแลตัวเองระหว่างเดินทางด้วยเคล็ดลับต่อไปนี้

ดูแลตัวเองระหว่างเดินทางด้วยการ….

1 เช็ด เช็ด และเช็ด…เช็ดให้สะอาด

ดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง

ใครจะเรียกเราว่าคุณนายสะอาดก็ช่างปะไร ถ้ามันช่วยปกป้องคุณได้ คุณควรพกกระดาษเปียกแบบฆ่าเชื้อโรคได้ติดตัวเสมอ และก่อนที่คุณจะนั่งลงบนที่นั่ง–ไม่ว่าจะบนเครื่องบิน รถไฟ หรือรถโดยสาร เอาผ้าเปียกที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคเช็ดที่เท้าแขน ถาดหน้าโต๊ะ หัวเข็มขัดนิรภัยอะไรก็ตามที่คุณต้องสัมผัส แล้วปล่อยให้มันแห้งก่อนจะนั่งลง (แค่ไม่กี่วินาทีเองไม่ต้องกลัว) คุณจะได้ไม่ต้องรับเชื้อโรคจากคนที่นั่งตรงนี้มาก่อน โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอะริโซนาในเมืองทูซอนเมื่อไม่นานมนี้ พบว่าบริเวณโต๊ะพับบนเครื่องบินมีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มากที่สุด โดย ดร.ชาร์ลส์ เกอร์บ้า ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดทำงานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า สิ่งที่ได้จากผลการศึกษาก็คือ ดูเหมือนจะไม่เคยมีใครฆ่าเชื้อโรคเจ้าสิ่งนี้เลย เพราะฉะนั้นทำความสะอาดเอาไว้ก่อนดีกว่านะ

2 อย่าได้ขาดความชุ่มชื่น

ดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง

ยิ่งเราอยู่สูงขึ้นเท่าไหร่ ความชื้นก็ยิ่งต่ำลงเท่านั้น อากาศบนเครื่องบินจึงแห้งมาก และทำให้เราเปราะบางต่อไวรัสและแบคทีเรียทั้งหลายด้วย และการเติมความชุ่มชื่นให้ร่างกายไม่ขาดจะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายมีความชุ่มชื่นและมีความยืดหยุ่นพอที่จะไม่ให้เชื้อโรคมาเกาะติดมันได้ง่ายนัก ดื่มน้ำ 8 ออนซ์ทุกชั่วโมงที่คุณอยู่ในอากาศ ถูกล่ะว่านั่นอาจหมายถึงการต้องเข้าห้องน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคบนเครื่องบิน (ถือกระดาษเปียกติดมือไปด้วย) แต่ไข้หวัดก็เป็นศัตรูร้ายที่คุณควรดื่มน้ำเพื่อต่อสู้มัน มากกว่าขี้เกียจเดินไปเข้าห้องน้ำนะ

3 อย่านั่งนานเกินไป

ดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง

เมื่อสัญญาณ “โปรดรัดเข็มขัด” ดับลง ให้แน่ใจว่าคุณได้ลุกขึ้นมาเดินไปเดินมาบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหลอดเลือดขาและปอดอุดตัน (Deep-Vein Thrombosis-DVT) ซึ่งเกิดจากการเกิดลิ่มเลือดในขา ที่ส่งผลมาจากการนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่เป็นเวลานานๆ (อาการนี้อาจถึงชีวิตได้ ถ้าลิ่มเลือดเดินทางไปยังปอด) เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว พยายามลุกขึ้นและเคลื่อนไหวทุก 60-90 นาที และถ้าคุณมักจะเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย ลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ถุงน่องเพื่อช่วยพยุงขา

ใครเสี่ยงจะเกิด DVT?

ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคนี้หรือโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (pulmonary embolism) มาก่อน

  • ผู้ที่เป็นมะเร็ง
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีกรรมพันธุ์ที่เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย
  • ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดไม่นาน (ที่บริเวณเชิงกรานหรือขา)
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่อยู่ในระหว่างการบำบัดด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน

ถ้าเสี่ยงจะเป็น DVT ทำยังไงดียามเดินทาง

ถ้าคุณคิดว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็น DVT ให้ปรึกษาหมอก่อนเดินทาง หมออาจสั่งยาที่ทำให้เลือดมีความเข้มข้นน้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือถุงน่องชนิดพิเศษสำหรับใส่ในระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารเครื่องบินที่ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษ (compression stockings หรือบางทีก็เรียก flight socks) ในการเดินทางบนเครื่องบินสี่ชั่วโมงขึ้นไป ลดความเสี่ยงในการเกิด DVT ได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งลดอาการบวมของขาด้วย โดยถุงน่องชนิดนี้มีหลายขนาด และมีระดับของแรงกดต่างกัน ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เพราะถุงน่องที่ไม่พอดีอาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็น DVT มากขึ้นก็ได้

ถ้าเพิ่งหายจาก DVT เดินทางได้มั้ย?

ถ้าคุณเคยเกิดอาการนี้ คุณอาจต้องกินยา เช่น Warfarin เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด ในกรณีเช่นนั้นความเสี่ยงคุณก็อาจต่ำ จึงไม่มีเหตุผลว่าทำไมคุณไม่อาจเดินทางไกลได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเพิ่งหายจาก DVT ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง และควรทำตามคำแนะนำในการป้องกันการเกิด DVT อย่างเคร่งครัดนั่นก็คือ

  • ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ สบายๆ ยามเดินทาง และซื้อถุงน่อง compression stockings มาใช้
  • เก็บของทั้งหมดไว้บนที่เก็บของเหนือศีรษะ เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ให้เหยียดแข้งขสได้มากที่สุด
  • ทำท่าออกกำลังป้องกัน DVT เขย่งเท้าขึ้นๆ ลงๆ ทำ 10 ครั้ง จากนั้นเปลี่ยนมายกนิ้วเท้าขึ้นและลง 10 ครั้ง ทำอย่างน้อยทุกครึ่งชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นก็ได้ถ้าต้องการ และพยายามเดินไปเดินมาเมื่อสามารถทำได้
  • ดื่มน้ำเยอะๆ และอย่าดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยานอนหลับ

4 ดูแลมือให้ดีๆ

ดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง

เตรียมน้ำยาทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องใช้น้ำเอาไว้ในกระเป๋าถือ และใช้เป็นประจำ เพราะเชื้อโรคบนมือของคุณเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของคุณ ไม่ว่าจะในช่วงไหนของปี นั่นเพราะไวรัสหวัดมักจะกระจายจากมือไปยังปากได้ง่ายมาก และลูกบิดประตูตามห้างสรรพสินค้า ราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดในลิฟท์ และปุ่มกดเอทีเอ็ม ก็เป็นศูนย์รวมของไวรัสทั้งหลาย ที่เมื่อมือคุณไปสัมผัส ก็สามารถพาเชื้อโรคจากมือไปสู่ปากได้ ถ้าคุณไม่หมั่นทำความสะอาดมือ

5 ลองนวด

ดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง

ตามสนามบินมักมีเก้าอี้นวดไว้ให้บริการ ลองใช้บริการดูสักหน่อยถ้าทำได้ เพราะจากการศึกษาที่ศูนย์การแพทย์ซีดาร์-ไซนายในลอสแองเจลิสพบว่า การนวดแบบสวีเดนแค่ครั้งเดียวช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอล และเพิ่มเม็ดเลือดขาวที่ช่วยปกป้องร่างกายต่อเชื้อโรค ถึงแม้จะเพียงแค่ 10 นาที การได้นวดสักหน่อยก็ดีกว่าไม่ได้นวดเลย

6 เอาชนะเจ็ทแล็ก

ดูแลตัวเองระหว่างเดินทาง

เจ็ทแล็ก (Jet Lag) เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในยามที่ต้องเดินทางไปในที่ซึ่งเขตเวลาต่างกัน ทำให้นาฬิกาในร่างกายตามปกติถูกรบกวน เนื่องจากนาฬิกาในร่างกายเรามักตอบสนองต่อแสงสว่างในตอนกลางวัน และความมืดในตอนกลางคืน เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ต้องเจอแสงสว่างผิดไปจากเวลาเดิม มันก็อาจต้องใช้เวลาหลายวันในการปรับตัว และนี่คือวิธีดีๆ ในการรับมือกับการเกิดเจ็ทแล็ก

ก่อนเดินทาง

  • นอนเพิ่ม ให้แน่ใจว่าคุณพักผ่อนเต็มที่ก่อนการเดินทาง ถ้าคุณเดินทางกลางคืน และสามารถนอนหลับได้บนเครื่องบิน มันจะช่วยให้คุณอยู่ได้จนกระทั่งถึงกลางคืน เมื่อคุณไปถึงจุดหมายปลายทาง
  • เปลี่ยนกิจวัตรการนอน สองสามวันก่อนเดินทาง เริ่มเข้านอนและตื่นให้เร็วกว่าปกติ หรือนอนให้ดึกตื่นสาย ตามแต่เวลาในที่ซึ่งคุณจะไป และในระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน ให้พยายามกินและนอนตามเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทางของคุณ
  • หยุดระหว่างทาง การหยุดพักเพื่อเปลี่ยนเครื่องจะทำให้การปรับตัวเรื่องการเปลี่ยนเวลาง่ายขึ้น และคุณก็จะเหนื่อยน้อยลงเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ระหว่างรอต่อเครื่อง ให้เดินไปรอบๆ หรืออาบน้ำหรือออกกำลังเล็อน้อยถ้าเป็นไปได้

ในระหว่างการเดินทาง

  • อย่าให้ขาดน้ำ เจ็ทแล็กสามารถทำให้อาการขาดน้ำแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะหลังจากนั่งอยู่บนเครื่องบินที่อากาศแห้งๆ เป็นเวลานานๆ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ โคล่า) ที่อาจรบกวนการนอน
  • เตรียมพร้อมสำหรับการนอน ในระหว่างอยู่บนเครื่องบิน ใช้ที่ปิดตาและอุดหูจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • ใช้ตัวช่วยอย่างระมัดระวัง พนักงานสายการบินจำนวนมากมักใช้เมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาใตอนกลางคืนหรือตอนมืด เพื่อต่อสู้กับเจ็ทแล็ก แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยานอนหลับ เพราะมันไม่ช่วยร่างกายคุณในการปรับตัวต่อรูปแบบการนอนใหม่ได้ตามธรรมชาติ

เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง

  • นอนให้พอ พยายามนอนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในทุก 24 ชั่วโมง การนอนในวันแรกสี่ชั่วโมงตามเวลาท้องถิ่นใหม่ เชื่อกันว่าสามารถช่วยได้ในการปรับตัวกับเวลาใหม่ ถ้าเป็นไปได้ให้ชดเชยการนอนด้วยการงีบตอนกลางวัน
  • แสงธรรมชาติ วงจรของแสงสว่างและความมืดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการตั้งนาฬิกาภายในร่างกายเรา การเจอกับแสงแดดที่จุดหมายปลายทาง จะช่วยคุณในการปรับตัวกับเวลาใหม่ได้เร็วกว่า
Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *