ท่าจ้องจอ
0 0
Read Time:3 Minute, 58 Second

เดี๋ยวนี้เราจ้องจอกันทั้งวัน เผลอๆ อาจจะมากกว่าจ้องหน้าแฟนซะอีกแน่ะ แต่นอกจากสายตาที่อาจล้าจากการจ้องมองจอทั้งวันแล้ว ท่าทางในการที่คุณมองหน้าจอของคุณ ก็เป็นอีกต้นตอของปัญหา เพราะท่าจ้องจอที่คุณถนัดใช้เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการตึงเครียดทางร่างกาย จนเกิดปัญหาเรื้อรังได้ เพราะฉะนั้นมาดูกันว่าท่าไหนที่คุณชอบใช้ แต่ไม่ควรใช้อีกต่อไป!

1 ส่งข้อความทางมือถือ

ท่าจ้องจอ

ทำยังไง : ถือมือถือในระดับสะดือ ศีรษะก้ม คางกดลง

ไม่ดียังไง : การศึกษาในวารสาร Surgical Technology International พบว่า การก้มศีรษะเพื่อพิมพ์ข้อความ ทำให้เกิดแรงกดราว 60 ปอนด์ที่กระดูกสันหลังส่วนบน และการก้มศีรษะแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้กระดูกสันหลังของคุณเสื่อมเร็วขึ้น

แก้ยังไง : ดึงมือถือให้สูงขึ้นมาในระดับอก และเหลือบตาลงมองที่จอมือถือ โดยไม่ก้มศีรษะหรือกดคางลงไป

2 ทำงานบนแล็ปท็อป

ท่าจ้องจอ

ทำยังไง : นั่งขัดสมาธิบนโซฟา วางแล็ปท็อปบนตัก งอหลัง และก้มลงมองหน้าจอ

ไม่ดียังไง : ไม่เพียงแต่คุณจะทำให้คอตึง คุณยังทำร้ายบั้นเอวของคุณด้วย เพราะการอยู่ในท่านี้นานๆ สามารถทำให้หมอนรองกระดูกที่หลังส่วนล่างยื่นไปข้างหลัง ที่ในที่สุดแล้วจะนำไปสู่อาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (herniated disk) ได้

แก้ยังไง : เอาแล็ปท็อปวางบนโต๊ะดีกว่า มันทำให้คุณสามารถรักษาแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในแบบที่เหมาะสมที่สุดได้ หรือถ้าอยากนั่งท่านี้ เอาหมอนมาวางรองแล็ปท็อปให้สูงขึ้นหน่อย จะได้ไม่ต้องก้มมาก

3 เล่นแท็บเล็ต

ท่าจ้องจอ

ทำยังไง: คุณนั่งบนเตียง งอเข่า แล้ววางแท็บเล็ตบนต้นขา ศีรษะยื่นไปข้างหน้าเพื่อมองจอ

ไม่ดียังไง : มันไม่มีท่าที่สบายและถูกหลักสรีระในการมองจอแท็บเล็ตหรอก การยื่นหัวออกมาเพื่อมองจอให้ชัดเจน ทำให้คอต้องยืดมากขึ้น ที่อาจนำไปสู่อาการปวดได้ การศึกษาจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในบอสตันพบว่า คนเราจะยืดหัวและคอมากกว่าเวลาใช้แท็บเล็ต เมื่อเทียบกับการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือแล็บท็อป

แก้ยังไง : นอนตะแคงข้าง ถือแท็บเล็ตไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วสลับข้างทุกสองสามนาทีแทน

4 ท่าจ้องจอทีวีบนผนัง

ท่าจ้องจอ

ทำยังไง : คุณวิ่งอยู่บนลู่วิ่งไฟฟ้าในยิม ขณะที่ยื่นคอไปดูทีวีที่อยู่บนผนัง

ไม่ดียังไง : การเอียงคอเพื่อดูจอทีวีที่อยู่บนผนัง ทำให้คุณเสียสมดุล ทำให้ข้อต่อ กล้ามเนื้อ แขนขา และกระดูกในร่างกายต้องทำงานหนัก ทำให้เกิดอาการล้าได้เร็วกว่าปกติ เมื่อกล้ามเนื้อล้า มันก็ไม่สามารถทำในสิ่งที่เราคิดว่ามันกำลังทำอยู่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราคิดว่าเป็นท่าทางที่ดีแล้ว ที่จริง อาจเป็นท่าทางที่แย่มากก็ได้ และหากเคลื่อนไหวแบบนี้ไปสักพัก สามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายด้วย นอกจากนี้การบิดตัวไปมองจอทีวี ก็ทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่ฝั่งตรงข้ามตึง ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ด้วย

แก้ยังไง : ถ้าชอบดูรายการโปรดขณะออกกำลัง ก็เลือกเครื่องวิ่งที่มีจอติดอยู่ในตัว ที่จะทำให้คุณสามารถมองตรงไปข้างหน้า และตัวตรงเสมอ แต่ถ้ายิมที่คุณเล่นมีแต่จอแบบแขวนผนัง ก็พยายามเลือกเครื่องที่ตั้งอยู่ตรงกับทีวี

5 นอนคว่ำเล่นแท็บเล็ต

ท่าจ้องจอ

ทำยังไง: คุณนอนคว่ำบนโซฟา วางแท็บเล็ตไว้บนพื้น แล้วห้อยหัวลงมามองจอ

ไม่ดียังไง : คุณกำลังใช้กล้ามเนื้อคอด้านหลังในการดึงให้หัวเงยขึ้น ซึ่งไม่ใช่ท่าปกติของคอ แรงดึงดูดจะดึงให้คอกดลง ขณะที่คอคุณก็จะพยามต้านเอาไว้ มันจึงทำให้เกิดอาการตึงที่กล้ามเนื้อคอ  ผลข้างเคียงที่เป็นไปได้อีกอย่างก็คือ อาการปวดหลัง การศึกษาในออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้พบว่าท่าทางที่ทำให้ร่างกายอยู่ในตำแหน่งที่รู้สึกไม่สบาย อาจเพิ่มความเสี่ยงในการที่ทำให้เรากิดอาการเจ็บปวดที่หลังส่วนล่างได้

แก้ยังไง : เปลี่ยนมานอนหงายแทน ถือแท็บเล็ตด้วยมือทั้งสองข้างอยู่ตรงหน้า แขนคุณจะจับแท็บเล็ตได้สบายกว่าในช่วงสองสามนาที ซึ่งจะบังคับให้คุณหยุดพักเป็นระยะ ทำให้กล้ามเนื้อมีโอกาสได้เบรก

6 ท่าเท้าข้อศอก

ท่าจ้องจอ

ทำยังไง : คุณนอนคว่ำ แล้วใช้ข้อศอกยกลำตัวส่วนบนขึ้น ขณะที่ถือมือถืออยู่ในมือ

ไม่ดียังไง : การวางน้ำหนักไว้ที่ข้อศอกที่งออยู่ ทำให้เกิดแรงกดที่เส้นประสาทอัลน่าร์ ซึ่งอยู่ที่กระดูกข้อศอกมากขึ้น ทำให้คุณรู้สึกชาและเป็นเหน็บที่นิ้วนางและนิ้วก้อยเนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับ และถ้าข้อมือของคุณงอขณะที่ถือมือถือไว้ ก็อาจเพิ่มแรงกดที่เส้นประสาทมีเดียนที่ข้อมือได้ ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคเส้นประสาทกดทับที่ข้อมือให้มากขึ้นไปอีก

แก้ยังไง : นอนตะแคง ถือมือถือไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ที่จะทำให้ข้อศอกไม่มีแรงกด และยังช่วยผ่อนคลายหลังด้วย

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *