
การนอนเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก แต่ความเชื่อผิดๆ เรื่องการนอนบางอย่าง อาจทำให้คุณพักผ่อนไม่ได้เต็มที่อย่างที่ต้องการก็ได้
เป็นเรื่องจริงอย่างที่ยิ่งที่ว่า มีคนจำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องการนอน และก็มีโอกาสอย่างมากว่า ความเชื่อผิดๆ เรื่องการนอนหลับหลายอย่าง อาจเป็นสิ่งที่ทำให้การนอนของคุณมีปัญหา หรืออาจไม่ได้รับการพักผ่อนเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
เพราะฉะนั้นมาลองดูความเชื่อผิดๆ ต่อไปนี้ และเปลี่ยนมันซะด้วยเคล็ดลับของเรา และทำให้คุณหลับสบายขึ้น
ความเชื่อผิดๆ เรื่องการนอนที่คุณควรเปลี่ยนเสียใหม่
ความเชื่อผิดๆ 1: หลายคนเป็น “คนนอนสั้น”

ข้อเท็จจริง: ถ้าคุณต้องการนอนตอนกลางคืนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงจริงๆ คุณก็ถือเป็นคนที่หายากมากนะ ถึงแม้จะเป็นไปได้ที่บางคนจะโอเคกับการนอนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 20 ถึง 25% แต่ประเด็นอยู่ที่ว่านักวิจัยคาดว่ามีคนน้อยกว่า 1% ที่เป็นนั้น
เปลี่ยนแบบนี้: สองสิ่งที่น่าจะเป็นสัญญาณว่าคุณอยู่ในกลุ่มการนอนสั้น ก็คือคุณตื่นเป็นประจำโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก ในเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดา วันหยุด หรือยามไปพักผ่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า พวกเราส่วนใหญ่ต้องการนอน 7 ถึง 8 ชั่วโมงเพื่อให้สุขภาพดี
ความเชื่อผิดๆ 2: การงีบหลับจะทำให้คุณเหนื่อยมากขึ้น

ข้อเท็จจริง: บางคนบอกว่าการงีบหลับสั้นๆ ทำให้พวกเขาง่วงมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว ดร.คิมเบอร์ลี่ เอ.โค๊ต นักวิจัยด้านการนอนที่มหาวิทยาลัยบร็อค (Brock University) ในออนตาริโอ แคนาดา บอกว่า การงีบหลับที่น้อยกว่า 20 นาที จะทำให้พวกเราส่วนใหญ่กระฉับกระเฉง ตื่นตัว และอารมณ์ดี เหตุผลก็คือ หลังจากประมาณ 20 นาที สมองอาจเคลื่อนเข้าสู่ช่วงของการหลับลึก ทำให้คุณตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกมึนงงแทนที่จะสดชื่น
เวลาที่คุณงีบหลับก็สำคัญ โดยควรงีบหลับในช่วงบ่ายต้นๆ เพื่อจะได้ไม่รบกวนความสามารถในการหลับในเวลาเข้านอน โดยนาฬิการ่างกายของคนส่วนใหญ่จะกระตุ้นให้เกิดความง่วงในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างบ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น
เปลี่ยนแบบนี้: เพื่อทำให้การงีบหลับเป็นกิจวัตรประจำวัน และหลับได้เร็วขึ้น ควรใช้ตัวช่วยในการนอน เช่น หมอนใบโปรด หรือผ้าปิดตากลิ่นลาเวนเดอร์ และงีบหลับบนเก้าอี้หรือเก้าอี้ยาวสบายๆ แทนที่จะเป็นเตียงเพื่อหลีกเลี่ยงการนอนนานเกินไป
ความเชื่อผิด 3 : เป็นเรื่องปกติที่จะสัปหงกระหว่างการประชุม

ข้อเท็จจริง: เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกกระฉับกระเฉงน้อยลงเล็กน้อยในตอนบ่าย แต่คุณไม่ควรรู้สึกเหมือนจะสัปหงกตอนผู้บริหารนำเสนอแผนงานตอนสี่โมงเย็น หรือตอนที่เพื่อนกำลังอธิบายว่าทำไมซูเปอร์แมนจึงเจ๋งกว่าแบทแมน
ถ้ารู้สึกว่าหนังตาหนัก แสดงว่าคุณเหนื่อยเกินไป นพ.ดร.วิลเลี่ยม ซี. เดเมนท์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐฯ บอกเช่นนั้น ที่จริง ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา คุณอาจจะกำลังตกเป็น “หนี้ของการนอน” หรือชั่วโมงรวมของการนอนที่คุณเสียไปทั้งหมด ถ้าคุณต้องการการนอน 8 ชั่วโมง และได้นอนแค่ 7 ชั่วโมง หลังจากหนึ่งสัปดาห์ ร่างกายจะตอบสนองเหมือนคุณอดนอนตลอดคืน หนี้การนอนเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพเรื้อรังและร้ายแรงต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน
เปลี่ยนแบบนี้: ถ้าการนอนของคุณถูกรบกวนเป็นบางครั้ง การนอนหลับสนิทตอนกลางคืนจะช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาเรื้อรัง เช่น ความเครียด มีคู่สมรสนอนกรน หรือสัตว์เลี้ยงที่มาเคล้าเคลีย จะต้องหาทางแก้ไขเป็นพิเศษ (เช่น ไปหาหมอ หรือนอนแยกต่างหาก) แต่ถ้าคุณโกงเวลาการนอนของตัวเอง “เพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จ” หรือถ้าคุณแค่ไม่รู้ว่าคุณต้องนอนมากแค่ไหน คุณต้องปรับเวลาเข้านอน และตื่นให้เช้าขึ้น
ความเชื่อผิดๆ 4 : คุณควรเข้านอนเร็วขึ้น ถ้าคุณเป็นโรคนอนไม่หลับ

ข้อเท็จจริง: อยู่ให้ห่างจากเตียง ถ้าคุณทรมานจากโรคนอนไม่หลับจริงๆ เพราะอาจจะทำให้คุณอาการแย่ลง สาเหตุคือกลไกการนอนที่ควบคุมโดยสารเคมีในสมอง ก็เหมือนกับความอยากอาหาร ระยะเวลาระหว่างมื้ออาหารและกิจกรรมที่คุณทำ จะทำให้คุณหิวมากขึ้น กลไกของคุณจะสร้างความอยากนอนบนพื้นฐานของระยะเวลาที่คุณตื่น และความแอคทีฟของคุณ ยิ่งคุณ “หิว” นอนมากแค่ไหน คุณก็จะหลับได้เร็วและหลับสนิทขึ้น แต่ก็เหมือนกับที่คุณจะไม่อยากกินอาหารมื้อใหญ่ตอนเย็น ถ้าคุณกินตลอดวันหรือกินของว่างใกล้การกินมื้อเย็น คุณจะไม่รู้สึกง่วงถ้าคุณเข้านอนเร็วขึ้นหรือมีการงีบหลับ
เปลี่ยนแบบนี้: เข้านอนช้ากว่าปกติหนึ่งชั่วโมง (เพื่อทำให้ตัวเองง่วงมากขึ้น) ถ้าคุณยังคงรู้สึกกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ ก็ให้ลุกขึ้นแล้วออกจากห้องนอน ลองอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมเบาๆอื่นๆ และควรออกกำลังกายในตอนกลางวัน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมสั้นๆ 30 ถึง 45 นาที จะช่วยให้คนที่นอนไม่หลับนอนดีขึ้นและนานขึ้น
ความเชื่อผิดๆ 5 : การนอนน้อยลงเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องไม่ดี

ข้อเท็จจริง: การนอนน้อยลง 90 นาทีในแค่หนึ่งคืน สามารถลดความตื่นตัวในตอนกลางวันลงมากถึง 32% นั่นเพียงพอที่จะบั่นทอนความจำ ความสามารถในการคิด และความปลอดภัยในการทำงาน การศึกษาในออสเตรเลียชิ้นหนึ่งพบว่า อาสาสมัครที่เข้านอนช้ากว่าปกติ 6 ชั่วโมงในวันที่มีการทดสอบ มีความตื่นตัวและระยะเวลาในการตอบสนองได้ไม่ดีเหมือนกับคนเมา
เปลี่ยนแบบนี้: ถ้าคุณพลาดการนอนหลายชั่วโมงในหนึ่งคืน ลองขอลาป่วยในวันต่อไปหรือขอทำงานที่บ้าน (คุณจะได้ไม่ต้องขับรถ) ถ้าคุณพบว่าตัวเองเผลอหลับที่โต๊ะทำงาน ให้เดินเร็วขึ้นลงบันไดหรือในห้องโถง การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณกระฉับกระเฉง เพราะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย จึงทำให้เกิดความตื่นตัวชั่วคราว ถ้าเป็นไปได้ แบ่งเวลาส่วนหนึ่งตอนพักเที่ยงเพื่องีบหลับ อย่าลืมตั้งนาฬิกาปลุก หรือขอให้เพื่อนปลุกคุณ
ความเชื่อผิดๆ 6: คุณนอนชดเชยในวันหยุดได้

ข้อเท็จจริง: ถ้าคุณไม่ได้เป็นโรคนอนไม่หลับ ก็มีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีที่จะชดเชยการนอนที่สูญเสียไป ด้วยการนอนนานขึ้นในวันหยุด แต่ในความเป็นจริง กิจกรรมต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในวันหยุดที่ จะทำให้คุณไม่สามารถนอนชดเชยได้จริงๆ และคุณก็จะลงเอยด้วยหนี้การนอนที่มากขึ้นกว่าเดิม
เปลี่ยนแบบนี้: อย่านอนน้อยในวันทำงานเป็นประจำ ด้วยความคิดที่ว่าคุณจะชดเชยในวันหยุด ถ้าคุณต้องเป็นหนี้การนอนในบางโอกาสระหว่างวันทำงาน พยายามนอนเพิ่มในวันหยุดหรืองีบหลับเพื่อชดเชยอย่างน้อยบางส่วนของการนอน
ความเชื่อผิดๆ 7: ไม่สำคัญว่าคุณจะเข้านอนตอนไหน

ข้อเท็จจริง: คนที่นอนดึกมีโอกาสเพิ่มขึ้น 3 เท่าที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อเทียบกับคนที่ตื่นเช้า การศึกษาชิ้นหนึ่งค้นพบเช่นนั้น แม้ว่าจะนอนในปริมาณรวมเท่ากัน ผู้เชี่ยวชาญไม่แน่ใจนักว่าทำไม แต่อาจจะมีเวลาที่เหมาะสมที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงในการนอนหลับและการตื่น
เปลี่ยนแบบนี้: ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนเวลาเข้านอน ให้เริ่มอย่างช้าๆ เช่น เข้านอนเร็วขึ้น 15 ถึง 30 นาที ทุกสองสามวัน และทำให้แน่ใจว่าหรี่แสงในบ้านลงประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนเวลานั้น จากนั้น ตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นใน 7 ถึง 8 ชั่วโมงหลังจากนั้น
ความเชื่อผิดๆ 8: คนที่นอนไม่หลับอย่างหนักถึงจะใช้ยานอนหลับ

ข้อเท็จจริง: จริงๆแล้ว ยานอนหลับเป็นประโยชน์มาก ถ้าคุณใช้ก่อนจะเกิดการนอนไม่หลับเรื้อรัง มันสามารถช่วยแก้ไขกลไกการนอนที่ทำงานไม่ดีของคุณ ยานอนหลับยุคใหม่จะช่วยทำให้คุณหลับภายในไม่กี่นาทีและต่อเนื่อง จึงทำลายวงจรของการนอนไม่หลับและการวิตกกังวลอาจทำให้นอนไม่หลับเรื้อรังได้ พวกมันยังสลายตัวเร็วกว่ายาแบบเก่า คุณจึงไม่รู้สึกครึ่งหลับครึ่งตื่นในตอนเช้า แต่ก็เหมือนกับยาทุกอย่าง ยานอนหลับอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง (มึนงง ปวดหัว กระวนกระวาย) และไม่เหมาะกับการใช้ในระยะยาว
เปลี่ยนแบบนี้: ปรึกษาหมอเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของยานอนหลับที่เหมาะสำหรับคุณ อย่าใช้ยานอนหลับโดยพลการ
Average Rating